วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

‘น้องคะน้า’ สาวสวยสารคาม สู้ชีวิต...สานฝัน จากเด็กเก็บขยะสู่เศรษฐีพันล้าน!!

วันนี้มาพบกับสาวสู้ชีวิต จากชีวิตที่รันทด ใจสู้ จนพิชิตเงินล้าน และยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง มาพบกับเรื่องราวของสาวสวยคนนี้ได้เลยครับ กับ ‘น้องคะน้า’ สาวสวยสารคาม สู้ชีวิต...สานฝัน จากเด็กเก็บขยะสู่เศรษฐีพันล้าน!!

ชีวิตของคนเรามีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี มีทั้งรวยและจน อยู่ที่แต่ละคนจะเลือกว่าอยากมีความสุขหรือความทุกข์ แต่สำหรับน้อง ’คะน้า“ หรือ ภัทร์ภัสสร ธนาเสฎฐ์หิรัญ สาวสวยจากจังหวัดมหาสารคาม วัย 29 ปี ได้เลือกเส้นทางชีวิตให้ตัวเองด้วยการตั้งเป้าไว้ว่า “อยากรวย” เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่เป็นหนี้นับล้าน และเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ใช่เพื่อความสุขสบายของตัวเอง จากเด็กเก็บขยะกลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเธอ พร้อมเรื่องราวเคล็ดลับการเป็นเศรษฐีและปรัชญาดี ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต  
“ตั้งแต่จำความได้ครอบครัวของเรา    มีฐานะปานกลาง พ่อแม่ทำงานรับราชการ คะน้ามีน้องชาย 1 คน ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ ของครอบครัวก็ปกติทั่วไป เมื่อย่างเข้าสู่วัยนักศึกษา ชีวิตก็เปลี่ยนไปเพราะครอบครัว   โดนโกง เนื่องจากคุณพ่อไปช่วยค้ำประกันให้คนอื่น จึงต้องใช้หนี้แทนคนที่มาขอให้ช่วยค้ำประกันซึ่งเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท พ่อ  กับแม่ต้องทำงานพิเศษเพิ่มเพื่อช่วยวิกฤติภายในครอบครัว ครอบครัวคะน้าไม่ปิดบังลูกเวลามีปัญหาอะไรจะบอกเล่าให้กันฟัง พอทราบเรื่องรู้สึกสงสารพ่อกับแม่มาก สิ่งไหนที่พอจะช่วยประหยัดได้ก็จะช่วย” 
นับจากวันนั้น ครอบครัวของเธอคนนี้ จึงเหมือนกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์ คะน้าเองต้องเรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรไม่ให้เป็นภาระของครอบครัว คือไม่ใช้เงินเปลือง รวมทั้งช่วยทำงานต่าง ๆ ที่จะให้ได้เงินมา เช่น วันเสาร์ อาทิตย์รับเสื้อผ้าไปขายหรือเอาเสื้อผ้าเก่าไปขายที่ไนท์บาซาร์ หรือตามเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงเก็บใบตองมาพับกระทงขายในเทศกาลลอยกระทง ซึ่งใบตองได้มาฟรีทำให้ได้เงินเยอะโดยไม่ต้องลงทุน หรือเห็นเศษผ้าเหลือใช้ก็เก็บมาทำริบบิ้นส่งขายตามร้านขายผลไม้และร้านขายกระเช้าของขวัญในตัวเมือง 
กลายเป็นว่ายอดขายของทั้งปีได้เงินจากการนำของเหลือใช้จากคนอื่นมาต่อยอด หลังเลิกเรียนจึงรีบกลับบ้านมานั่งทำของขาย ไม่เคยไปเที่ยวสังสรรค์ปาร์ตี้   กับเพื่อน ๆ ซึ่งความจริงแล้วถ้าเป็นชีวิตของคนอื่น ๆ คงจะเป็นสังคมที่ต้องมีเพื่อนมีสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ แต่เรารู้หน้าที่ว่าควรจะอยู่ช่วยครอบครัวเป็นกำลังใจให้พ่อกับแม่ ถ้าคะน้าไม่อยู่ข้างพ่อแม่แล้วใครจะอยู่ และเขาต้องมานั่งเป็นห่วงลูกอีกว่าจะเป็นอย่างไรกลับบ้านหรือยัง สู้เราอยู่ใกล้ ๆ นั่งทำงานให้เห็นได้เงินมาก็นำมาช่วยกันจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ถึงแม้ว่าโบอันหนึ่งจะได้เงินแค่  5-10 บาท แต่เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกันทั้งปีก็ได้เป็นหลักหมื่นเหมือนกัน
“นอกจากนี้ช่วงปิดเทอมหรือหลังโรงเรียนเลิกจะไปเก็บกระป๋องโค้กและขวดน้ำที่ตกอยู่ตามพื้นมาชั่งกิโลขาย ถือว่าเป็นการช่วยให้บ้านเมืองสะอาดด้วย หากวันไหนที่เห็นว่าคนน้อยมากก็รื้อเก็บจากถังขยะเลย แต่ถ้าคนเยอะ ๆ จะไม่ทำเราต้องให้เกียรติคนอื่นด้วย พูดจริง ๆ ไม่ใช่ว่าเพราะอาย บอกได้เลยว่าคะน้าไม่อายในสิ่งที่ทำ เพราะคิดอย่างเดียวว่าอยากได้เงินมาช่วยพ่อกับแม่ และสิ่งที่ทำมันเป็นเรื่องดี ตรงกันข้ามกลับรู้สึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำ“
อีกอย่างด้วยความที่น้องคะน้าเป็นคนผิวขาว ตัวเล็ก และดูโดดเด่นในวัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้มีคนมาทาบทามขอเลี้ยงดู กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนตามมาขอเลี้ยงดูในเฟซบุ๊กอยู่ แต่คะน้าปฏิเสธหมดเพราะสามารถหาเงินเองได้ ถ้าสมมุติเราเลือกที่จะให้คนเลี้ยงดูก็จะไม่มานั่งเก็บขยะหรอก เนื่องจากการที่ได้เงินมาง่ายและเร็วจะไม่รู้ค่าของเงินที่แท้จริง แต่การที่ได้เงินมาจากน้ำพักน้ำแรงของเราเองต่างหากที่เป็นตัวที่ทำให้รู้ค่า  ของเงิน การที่เรามาจากรากหญ้าก็ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน
หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตย กรรม ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้วก็มาทำงานประจำบริษัทในกรุงเทพฯ ตรงตามสาขาที่เรียนมา ได้เงินเดือน 18,000 บาท ถือว่าเยอะสำหรับคนต่างจังหวัด แต่สำหรับเราไม่พอช่วยพ่อแม่ เพราะค่าเช่าห้องพัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ซึ่งค่าครองชีพในกรุงเทพฯ สูงมาก จึงคิดหางานพิเศษทำโดยไปเดินดูของขายที่สวนลุมไนท์บาซาร์ เจอสบู่มีกลิ่นหอมมากคนญี่ปุ่นรุมซื้อ จึงไปติดต่อรับเอามาขายและตั้งใจว่าจะออกแบบทำแพ็กเกจใหม่และส่งไปขายต่างประเทศ 
จุดเปลี่ยนของชีวิตเริ่มที่ตรงนี้เมื่อ   พกสบู่ติดตัวมาที่ทำงานด้วย เมื่อมีเวลาว่างในช่วงพักเที่ยงจะเอามาออกแบบแพ็กเกจ มีคนมาถามว่ากลิ่นอะไรหอมจังจึงขายสบู่ไปด้วย กลายเป็นว่าตัวเรากลายเป็นหน้าร้านขายสบู่ได้เงินวันละ 1,000 บาท รู้สึกดีใจมากน้ำตาไหลเลย เพราะเป็นการทำกำไรที่ดีมาก ต่างจากการทำงานทั้งเดือน 20 กว่าวันเพื่อจะได้เงิน 10,000 กว่าบาท แต่ขายสบู่ได้เงินวันละ 1,000 บาท จึงเห็นช่องทางแล้วว่าสบู่ช่วยทำเงิน จึงเปิดเว็บไซต์โพสต์ว่าขายสบู่ หลังจากนั้นเริ่มเจอลูกค้ามากขึ้น และลูกค้าถามว่ามีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นอีกไหม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้ามาขาย
เมื่อเห็นความต้องการของตลาดว่าต้องการครีมบำรุงผิวหน้า จึงตัดสินใจเอาบัตรเครดิต 3 ใบรูดซื้อครีมมาหมดเลย 150,000 บาท และมีหน้าที่ขายให้หมดภายใน 1 เดือน เป็นครีมบำรุงผิวหน้าแบรนด์ธรรมดามาก แต่ขายได้ดีมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าชอบครีมบำรุงผิวหน้ามาก แต่การขายของ ต้องรู้จริงว่าให้อะไรกับลูกค้าไป มีส่วนผสมอะไรบ้าง ตัวไหนเหมาะสมกับลูกค้า เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ขายอย่างเดียวแต่มีหน้าที่เป็นเพื่อนลูกค้าด้วย จึงลาออกจากงานไปศึกษาต่อปริญญาโทมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิทยาเขตกรุงเทพฯ คณะวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง 
เมื่อเรียนจบได้ผลการเรียนที่ดีมากเพราะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เรื่องการขายและนำงานวิจัยเกี่ยวกับครีมเมล็ดลำไยมาต่อยอดให้ทางมหาวิทยาลัยไปใช้ได้   โดยทำการศึกษาจนรู้สูตรของครีมและทราบว่าปัญหาของผิวผู้หญิงไทยเกิดจากอากาศของเมืองไทยเป็นเมืองร้อน จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลผิวคนไทยในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งในช่วงที่เรียนและวิจัยผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีโอกาสรู้จักรุ่นพี่ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมีโรงงานผลิตสินค้าที่ผ่านจีเอ็มพีให้กับทางบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ เซเว่น อีเลฟเว่น (7- Eleven) จึงขอเข้าไปช่วยทำงานให้เขาฟรี ๆ ด้วยการรับออกแบบแพ็กเกจให้
รุ่นพี่เห็นเราเป็นเด็กขยันมีความตั้งใจจริง จึงให้โอกาสผลิตครีมลอตที่เราคิดค้นและแนะนำให้ไปขายในเซเว่นแคตตาล็อคจึงนำคอนเซปต์ไปพรีเซ็นต์ว่าครีมตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นและนำพาสารสกัดได้ดี ช่วยหล่อเลี้ยงเข้าไปอยู่ในเซลล์ผิว ทำให้ผิวเกิดปัญหาน้อย แต่ทาง   เซเว่นแคตตาล็อคให้กลับไปแก้ 6 ครั้ง เช่น กล่อง ดีไซน์ แพ็กเกจ หลอดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งใช้เวลานานถึง  6 เดือน ช่วงนั้นประหยัดอดออมมากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนข้าว เพราะเงินในบัญชีเอาไว้จ่ายค่าเทอม และงานออกแบบสินค้าทำคนเดียวทุกอย่างทุกขั้นตอน
คะน้าสู้จนกระทั่งได้วางสินค้าแบรนด์ “เดิมมาดิก”ในเซเว่นแคตตาล็อคตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ซึ่งใน 2 เดือนแรกยอดขายดีมาก ทางเซเว่น อีเลฟเว่น จึงให้โอกาสวางสินค้าขายบนชั้น สำหรับเงินที่ได้มาในช่วงแรกก็นำมาต่อยอดเพื่อวางสินค้าบนชั้น เพราะเซเว่น อีเลฟเว่น 7,350 สาขาทั่วประเทศ เราต้องสต๊อกของเองก่อน ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากรุ่นพี่ที่โรงงานช่วยผลิตของให้ก่อนแล้วค่อยเอาเงินมาจ่ายให้ 
ตอนนี้คะน้าสามารถปลดหนี้ให้พ่อกับแม่ได้แล้วภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี และให้ทั้งสองลาออกจากงานเพื่อใช้ชีวิตแบบสบาย แต่พ่อกับแม่ขออยู่บ้านเดิมไม่อยากได้บ้านหลังใหม่ และเดินทางมาหาคะน้าที่กรุงเทพฯ บ่อย ๆ ถึงครอบครัวเราจะไม่มีหนี้สิน และใคร ๆ ก็เรียกว่าเศรษฐี แต่เชื่อไหมว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปเลย คะน้ายังกินข้าวข้างทางเหมือนเดิม ยังนั่งรถเมล์เหมือนเดิม เพราะเรารู้ตัวว่ากำลังทำอะไรและมีเป้าหมายยังไง ซึ่งเป้าหมายคือทำบริษัทให้เป็นที่พึ่งพิงให้คนอื่นได้มาทำงาน ได้กระจายรายได้สู่ชุมชน จึงมุ่งไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปมากกว่า   
หวังว่าชีวิตของเด็กสาวสู้ชีวิตอย่าง “คะน้า”ภัทร์ภัสสร ธนาเสฎฐ์หิรัญ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่กำลังมองหาธุรกิจเพื่อสร้างรากฐานให้ชีวิตมีความมั่นคงได้ดำเนินรอยตาม แต่อย่าลืมว่าการจะมีโอกาสที่ดีได้นั้นต้องอาศัยความอดทน ความทุ่มเทแรงใจและแรงกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ เพราะทุกอย่างในชีวิตไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ.
ปรัชญาการดำเนินชีวิต...แบบอย่างของความสำเร็จ
“ความกตัญญู” หลักการดำเนินชีวิตที่ดีของชีวิตของคะน้า คือตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยมา 4 ปี ไม่เคยไปเที่ยวกับเพื่อนเลย ถามว่าอยากไปไหมใจจริงก็อยากไปอยู่ตามประสาวัยรุ่น แต่เพราะคำพูดของแม่คำเดียวที่ว่า “แม่ลำบากลูกยังขอเงินแม่ไปเที่ยวกับเพื่อนอีกหรือ แต่ก็อนุญาตให้ไปพร้อมกับยื่นเงินให้ 100 บาท” เราจึงร้องไห้แม่ก็ร้องไห้ ทำให้คิดได้ว่าถ้าทิ้งพ่อกับแม่ไว้และไปเที่ยวสนุกกับเพื่อนก็ไม่ใช่จึงตัดสินใจไม่ไป
“ความขยัน” “การมีแนวคิดจิตใจที่ดี” “คิดบวกชีวิตก็บวก” เช่น สินค้าลอตแรกที่เอาไปพรีเซ็นต์กับเซเว่น อีเลฟเว่น เราไม่มีเงินสักบาทเดียวที่จะไปผลิตของ แต่รุ่นพี่เจ้าของโรงงานก็ช่วยเพราะเห็นว่าเราเป็นคนขยันและมีความมุ่งมั่น คือบอกเขาเลยว่าเราไม่มีเงิน แต่ช่วยหนูด้วยนะหนูสัญญาว่าจะหาเงินมาคืน มันเป็นความอดทนที่ใครหลายคนคิดไม่ถึง แค่คิดใจเราก็ไปถึงแล้ว มือเรา สมองเรา และอวัยวะทุกอย่างจะผลักดันเราไปเอง แต่ถ้าไม่เริ่มคิดเราก็อยู่ที่เดิม...
“การนอบน้อมถ่อมตน” เป็นเครื่องช่วยเบิกทางในการรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ถ้าเรามีความนอบน้อมถ่อมตน เวลาไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆ ย่อมได้รับความช่วยเหลือตอบกลับมาอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนสังคมที่ให้โอกาสดี ๆ แก่เราด้วย เช่น การที่คะน้าไปบรรยายหรือให้ความรู้แก่นักศึกษาจะไม่รับเงินค่าตัวเลย แต่บริจาคให้เป็นทุนการศึกษาของน้อง ๆ ต่อไป 
“การยอมรับความจริง” ธรรมะทำให้เห็นถึงความจริง การไม่ปฏิเสธความจริงจะไม่ทุกข์ ถ้าเราเข้าใจความเป็นธรรมชาติของตัวเองตั้งแต่แรกว่าเป็นอย่างไร เช่น เป็นคนจนแต่สามารถค่อย ๆ พัฒนาจนรวยได้ จะทำให้เราก้าวไปได้อย่างมั่นคง แต่สุดท้ายแล้วความรวยไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น หรือความจนไม่ได้ทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้น คนเรามีความสุขเท่าเดิมไม่ว่าจะรวยหรือจน เพราะถ้ายอมรับความจริงในชีวิตได้ก็แปลว่ามีความสุขอยู่แล้ว...
ชญานิษฐ คงเดชศักดา

Credit :news
แล้วกลับมาพบกับ SimpleThings เรื่องง่ายๆที่คุณก็ทำได้ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น