วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

พบกับออนไลน์ รวยลัด คลิกกำไร 24 ชั่วโมง

 
    ทุกวันนี้ความก้าวหน้าของระบบไร้สาย 3G และ 4G ที่ทำให้ผู้คนยุคนี้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมารับชมข่าวสารออนไลน์ อัพเดทความเป็นไปในโลกโซเชียลมีเดีย และที่สำคัญคือ ซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์กันมากขึ้น 
จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับเอสเอ็มอี ที่จะต้องปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่ยาก เพราะใช้งบลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการหาทำเลเปิดหน้าร้านปกติ ในขณะที่ประสิทธิภาพการเข้าถึงลูกค้านับว่าใช้ได้ทีเดียว สามารถสร้างยอดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังขยายตลาดใหม่ๆ ได้อย่างไร้พรมแดน อย่างตลาดใหญ่ที่ใกล้ตัวคนไทยเราที่สุดก็เช่น ‘ตลาดอาเซียน’ ระบบออนไลน์นี้จะช่วยเปิดโอกาสการค้าขายกับคนมากกว่า 600 ล้านคน เลยทีเดียว

ช้อปปิ้งออนไลน์ขยายตัว มูลค่า 100,000 ล้านบาท

การช้อปปิ้งออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและกำลังเป็นเทรนด์นิยมไปทั่วโลก จากการสำรวจของบริษัท PWC Consulting (ประเทศไทย)พบว่า บรรดานักช้อปทั่วโลกมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือและแท็บเล็ตเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 41 ซื้อสินค้าผ่านแท็บเล็ตและร้อยละ 43 ซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนจึงไม่น่าแปลกใจหากผู้ประกอบการจะหันมาทำตลาดสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น เพราะถือเป็นอีกช่องทางการค้าหนึ่งที่สำคัญ

สำหรับแนวโน้มตลาดซื้อสินค้าทางออนไลน์ในประเทศไทยพบว่า มีสัญญาณการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2557 มูลค่าตลาดน่าจะมากกว่า 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่าการตลาดประมาณ 90,000 ล้านบาท เนื่องจากการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้านระบบการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านออนไลน์ก็ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ในขณะที่คุณภาพสินค้าก็ดีไม่แพ้การมาซื้อสินค้าที่ร้าน แถมราคาอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ วันนี้ผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่รอให้ผู้บริโภคเดินทางมาถึงหน้าร้าน แต่ส่งโปรโมชั่นสินค้าผ่านทางอีเมลหรือ SMS ให้แก่ลูกค้าโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว

ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าหลายช่องทาง

PWC ยังเผยอีกว่า ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากขึ้นนั้น มีผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48 ที่ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านสื่อออนไลน์ และเกือบร้อยละ 60 ที่ติดตามแบรนด์สินค้าหรือร้านค้าปลีกที่ตนชื่นชอบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ผลสำรวจยังเสนอแนะถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้บริโภคในยุคออนไลน์ ดังนี้
1. ต้องนำเสนอหรือถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจของแบรนด์สินค้า และสร้างความประทับใจผ่านการสร้างประสบการณ์อันดีในการช้อปปิ้ง (Customer Experience) ให้กับลูกค้า
2. ความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า
3. พัฒนาระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้งานกับอุปกรณ์สื่อสารได้หลากหลายประเภท
4. ความสามารถในการเลือกสินค้าในสต๊อกออนไลน์แบบเรียลไทม์ การติดตั้งสัญญาณ WiFi ภายในร้านค้า
5. การสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านช่องทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อีเมล โทรศัพท์ และการซื้อสินค้าที่หน้าร้าน
6. พัฒนาแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของร้านค้าบนมือถือ
7. การโต้ตอบกับลูกค้าผ่านสังคมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ
8. ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตสินค้าโดยตรง เนื่องจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์จากผู้ผลิตสินค้าโดยไม่ผ่านร้านค้าปลีกมีจำนวนมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้คือ หากผู้ประกอบการยังไม่มีเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางในการค้าขาย ก็ได้เวลาที่จะต้องมีเครื่องมือการตลาดออนไลน์เหล่านี้เป็นของตนเองเสียที ทั้งยังต้องรู้จักพัฒนากลยุทธ์และโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หันมาซื้อสินค้าผ่าน
ทางแท็บเล็ตและมือถือมากขึ้น รวมทั้งต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดออนไลน์ด้วย


4 ช่องทาง สร้างหน้าร้านออนไลน์

สำหรับเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี เพราะจะช่วยแจ้งเกิดแบรนด์สินค้าและสร้างยอดขายได้ดีมีอยู่ 4 ช่องทางที่สำคัญ ซึ่งก็มีทั้งแบบฟรี และมีค่าใช้จ่ายตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้ลงทุน ดังนี้

• เว็บไซต์ ผู้ที่ยังไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง หากต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าทั่วโลก เว็บไซต์จะเป็นนามบัตรออนไลน์ที่แนะนำความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการได้ดีที่สุด ด้วยพื้นที่ที่เอื้ออำนวยในการสื่อสารข้อมูลที่ต้องการได้หลากหลายภาษา ขณะเดียวกันก็รองรับระบบการค้าออนไลน์ ทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจคลิกสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

หากมีความสามารถในการทำเว็บไซต์ ก็ควรลงมือทำทันที หรือไม่ก็เลือกใช้บริการบริษัทผู้ให้บริการจัดทำเว็บไซต์มืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าบริการก็ไม่แพง มีเงินหลักพันบาท ก็สามารถเป็นเจ้าของเว็บไซต์หน้าตาสวย ใช้งานได้ตามต้องการ สำหรับผู้ที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่ปกติเน้นให้ข้อมูลบริษัท หรือทำหน้าที่เพียงแค่เป็นแค็ตตาล็อกสินค้า อย่ารอช้าที่จะพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ในทันที

• เฟซบุ๊ก ถือเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในเมืองไทยถึง 14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่นอกจากจะใช้โซเชียลมีเดียสร้างสังคมออนไลน์ ยังใช้พื้นที่ตรงนี้สร้างเพจร้านค้าบนเฟซบุ๊ก เพื่อโปรโมทสินค้าหรือบริการของตนเอง เนื่องจากเป็นช่องทางที่แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบน้อย

วิธีสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก เริ่มจากเข้าไปที่หน้า Create Page เลือกหมวดเพจที่ตรงกับธุรกิจ เช่น กรณีมีหน้าร้านที่ลูกค้าสามารถแวะไปได้ ให้เลือก Local Business or Place of interest หากมีแบรนด์หรือสินค้าเป็นของตนเอง แต่ไม่มีหน้าร้านให้เลือก Brand or Product จากนั้นใส่รายละเอียดต่างๆ จนครบ เท่านี้ก็จะได้เพจหน้าร้านที่สามารถนำเสนอขายสินค้าได้แล้ว ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่า การตั้งชื่อร้านควรคำนึงถึงสินค้าที่จะนำเสนอขาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย เมื่อลูกค้าเข้ามากด Like ข้อความที่เจ้าของเพจนำเสนอก็จะไปปรากฏให้ลูกค้าเห็นในหน้า News feed

• อินสตาแกรม โซเชียลมีเดียอีกตัวที่กำลังมาแรง สำหรับผู้ที่ชอบถ่ายรูปและแบ่งปันให้คนอื่นๆ ได้เห็น ซึ่งผู้ที่ทำธุรกิจหลายคน ก็นิยมใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางในการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงคนจำนวนมาก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เริ่มต้นจากการสร้างตัวตนของธุรกิจบนอินสตาแกรม โดยใช้ชื่อแบรนด์ บริษัท เป็นชื่อในการสมัคร เพื่อให้คนมาติดตาม จากนั้นกำหนด Hash Tag ของธุรกิจ สำหรับอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ค้นหา หรือติดตามข้อมูลและภาพทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ สินค้า หรือบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขั้นตอนต่อไปคือ การถ่ายภาพสินค้าใหม่ๆ อัพลงไปในอินสตาแกรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ที่ติดตามทราบว่าตอนนี้มีสินค้าอะไรมาใหม่ ขณะเดียวกันอาจคั่นด้วยการเล่าเรื่องราวด้วยภาพการทำงานเบื้องลึก เบื้องหลัง เป็นการสร้างสีสันเรื่องราวให้ผู้ติดตามไม่รู้สึกเบื่อ และเข้าถึงประสบการณ์ใช้งานสินค้าหรือบริการได้ดี

• แอปพลิเคชั่น ถือเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ทุกวันนี้
ผู้บริโภคทั่วโลกจะซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์บนมือถือ มากกว่าแอปพลิเคชั่น แต่สำหรับผู้ที่มีทุนทรัพย์ ถือเป็นการลงทุนที่ไม่เสียหลาย เพราะแอปพลิเคชั่นจะทำให้ร้านค้าทั้งร้านไปอยู่บนมือถือของลูกค้าได้ทันที ถือเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูพรีเมี่ยมยิ่งขึ้นในสายตาลูกค้า โดยผู้ให้บริการเขียนแอปพลิเคชั่นจะสร้างแอปพลิเคชั่นร้านค้าไว้บน App Store และ Google Play เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ใช้ทั่วไปดาวน์โหลดและติดตั้งได้ฟรีทันที


แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะทำหน้าที่เสมือนร้านค้าออนไลน์ไม่ต่างจากเว็บไซต์ ที่พร้อมให้ลูกค้าช้อปปิ้งออนไลน์ได้ทุกที่
ทุกเวลา เพียงแต่เข้าไปที่แอปพลิเคชั่นบนหน้า Home Screen โดยตรง ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยังเว็บบราวเซอร์เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์อีกต่อหนึ่งให้วุ่นวาย แต่ผู้ประกอบการต้องลงทุนหนักในครั้งแรกระดับหมื่นบาท ส่วนปีต่อๆ ไปก็จะมีค่าบริการดูแลแอปพลิเคชั่นด้วย


ทำการตลาด เข้าถึงลูกค้าออนไลน์

เมื่อมีหน้าร้านออนไลน์แล้ว ขั้นตอนสำคัญคือ การทำการตลาด เพื่อทำให้ผู้คนบนโลกออนไลน์มองเห็นและเข้าถึงหน้าร้านของผู้ประกอบการให้มากที่สุด แต่หากต้องการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะเข้าถึงได้อย่างชัดเจน เช่น เพศ อายุ อาชีพ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องแลกกับค่าโฆษณา ค่าโปรโมทที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้น

อย่างเว็บไซต์ก็มีวิธีการโปรโมทเว็บไซต์ ด้วยการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ของการค้นหาในหน้าเว็บ Search Engine ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ผู้คนรู้จักเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์
เพิ่มขึ้นอีกวิธีคือ การซื้อโฆษณา Google AdWords โดยเมื่อมีคนทำการค้นหา โฆษณาจะไปปรากฏอยู่ทางด้านขวาและด้านบนเสมอ หากมีการคลิกที่โฆษณาก็จะลิงก์ไปที่หน้าเว็บไซต์ในทันที โดยผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับทาง Google แต่หากไม่มีการคลิกเกิดขึ้น ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


กรณีเฟซบุ๊กมีเทคนิคว่า ในช่วงแรกให้โพสต์เรื่องราวสัพเพเหระทั่วไปก่อน เช่น บันเทิง ท่องเที่ยว อาหาร เพื่อให้มีคนมากดไลค์เพจร้านค้ามากๆ คราวนี้เมื่อถึงเวลาที่ต้องการจะโพสต์สินค้าลงไป ก็จะทำให้สินค้ากระจายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หากมีคนสนใจก็จะแชร์ให้เพื่อนต่อไปอีก อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีที่ช่วยเพิ่มไลค์อย่างรวดเร็ว นั่นคือ การซื้อบริการเพิ่มไลค์ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการโปรโมทหน้าเพจที่สามารถเพิ่มจำนวนคนพบเห็น และเพิ่มจำนวนไลค์ให้มากขึ้นได้

สำหรับอินสตาแกรม อาจสร้างกิจกรรมกระตุ้นให้ลูกค้าถ่ายภาพสินค้าผ่านอินสตาแกรม โดยมีของรางวัลจูงใจ เพื่อทำให้เกิดการพูดถึง และบอกต่อออกไปในโลกออนไลน์ อีกเทคนิคหนึ่งที่สามารถเพิ่มจำนวนคนติดตามได้ ก็คือการฝากร้านกับอินสตาแกรมของศิลปินที่มีชื่อเสียง หากมีผู้สนใจก็จะคลิกเข้าไปในอินสตาแกรมของร้านค้าอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อพื้นที่โฆษณาในอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน 

หากเป็นแอปพลิเคชั่นก็ต้องกระตุ้นให้คนดาวน์โหลด ทุกวันนี้มีแอปพลิเคชั่นอยู่มากมายบน  App Store และ Google Play ที่รอมาเพิ่มใหม่ก็มีอีกเพียบ ก่อนที่แอปพลิเคชั่นจะถูกกลืนหายไป ต้องโปรโมทแอปพลิเคชั่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้ที่สนใจตัดสินใจดาวน์โหลดมาใช้งาน จะเห็นได้ว่าการเชื่อมโยงเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และโซเชียลมีเดียทั้งหลายเข้าด้วยกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร อันนำมาซึ่งการเพิ่มยอดขายในท้ายที่สุด

ข้อควรใส่ใจเมื่อเปิดร้านออนไลน์

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการพึงระวังคือ เมื่อเปิดร้านออนไลน์แล้วจะมียอดขายเข้ามาเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ในความเป็นจริง การประกอบธุรกิจออนไลน์ต้องอาศัยความใส่ใจพอสมควร ตั้งแต่การตกแต่งหน้าร้านให้ดูดี มีเนื้อหาที่ทันสมัย หมั่นอัพเดทสินค้าใหม่ๆ ให้หน้าร้านมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสายตานักช้อปปิ้งออนไลน์ และสร้างความมั่นใจว่าร้านค้านั้นมีตัวตนอยู่จริง 

ที่สำคัญที่สุดคือ การเอาใจใส่ลูกค้า ถึงแม้จะไม่เจอหน้ากันโดยตรง แต่ลูกค้าสามารถรับรู้ได้ถึงความเอาใจใส่ของผู้ประกอบการ อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม เช่น การตอบคำถามลูกค้าอย่างรวดเร็ว การส่งของให้ตรงเวลา หรือแม้กระทั่งการบรรจุหีบห่อสินค้าให้ดูสวยงาม รวมทั้งฟังและติดตามลูกค้าว่าพูดถึงแบรนด์หรือธุรกิจอย่างไรในโลกออนไลน์ ถือเป็นการวัดผลเสียงติ หรือชมสินค้าได้ในระดับหนึ่ง หากผู้ประกอบการใส่ใจตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง สังคมออนไลน์จะไม่ใช่เพียงเป็นช่องทางสร้างยอดขาย แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และสร้างความภักดีต่อแบรนด์สินค้าได้อีกทางหนึ่ง ต่อให้มีการแข่งขันบนออนไลน์รุนแรงแค่ไหน ก็สามารถค้าขายได้อย่างยั่งยืน

เลือกใช้บริการซัพพลายเออร์มืออาชีพ

สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ก็สามารถเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ได้ เพราะในตลาดมีผู้ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจ กรณีอยากขายสินค้าออนไลน์ อาจทดลองด้วยการเปิดร้านค้า
ออนไลน์ฟรีกับตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ก่อน เพื่อรับรู้ถึงประสิทธิภาพของสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง จากยอดขายที่เข้ามาตลอด 24 ชั่วโมง หากพึงพอใจก็สามารถลงทุนเพิ่มตามแพ็คเกจต่างๆ ที่ผู้ให้บริการได้กำหนดไว้


กรณีต้องการจัดทำเว็บไซต์เป็นของตนเอง ต้องยอมรับว่าในตลาดมีผู้ให้บริการด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในรูปแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะตัดสินใจเลือกใช้งาน เพราะคิดว่าค่าบริการไม่น่าจะสูงเมื่อเทียบกับรูปแบบบริษัท แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเจอผู้ให้บริการที่ขาดจรรยาบรรณ ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงิน พร้อมกับได้รับงานที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ดีอีกด้วย

การไว้วางใจเลือกใช้บริการกับบริษัทผู้ให้บริการมืออาชีพ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยข้อดีคือ คนทำธุรกิจจะเหมือนมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการทำธุรกิจตลอดเวลา มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะคอยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ สินค้าขายได้ ทั้งยังสามารถขยายธุรกิจได้ตามต้องการในหลากหลายช่องทางที่เชื่อมต่อถึงกัน เรียกว่าลงทุนทีเดียว แต่สามารถขายสินค้าได้ทั้งหน้าร้าน บนเว็บไซต์แอปพลิเคชั่นบนมือถือ และโซเชียลมีเดีย รับทรัพย์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างนี้ แล้วจะไม่ให้รวยได้อย่างไร… 
ที่มา : นิตยสาร SMEs

เป็นไงครับ จริงที่ว่าทุกวันนี้โลกเราง่ายๆ เพียงแค่เรา กด คลิก เราก็สามารถที่จะทำอะไรได้หลายๆอย่าง จากความสะดวกสบายเหล่านี้ถ้าเราทำให้มันเป็นประโยชน์จนในที่สุด มันก็จะเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ แล้วกลับมาพบกันใหม่กับ 
มาพบกันใหม่กับ SimpleThings เรื่องง่ายๆที่คุณก็ทำได้ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น