วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

จะทำอย่างไรกับ SEO ในวันที่ Backlink ถูกลดความสำคัญ

backlink
อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าเรากำลังอยู่ในยุค SEO ที่ Backlink กำลังถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังๆ Google ได้ลดความสำคัญของ Backlink ลงและประกาศว่ามันไม่ใช่ปัจจัยหลักในการจัดอันดับเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของ Rank Brain เพื่อจัดอันดับ
เราจะมีแนวทางในการทำ SEO เพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า Backlink เคยมีความสำคัญอย่างไร
ในอดีตนั้น Google ได้คิดค้นวิธีการจัดอันดับโดยใช้ Backlink เปรียบเสมือนกับการโหวต ถ้าเว็บไซต์ไหนได้รับ Backlink มากๆแสดงว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดี มีคุณภาพ ยิ่งได้รับการโหวตมากๆ มีจำนวน Backlink เยอะก็จะส่งผลดีต่ออันดับของเว็บไซต์ใน SERP ตามไปด้วย แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าจำนวน Backlink อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ Backlink เหล่านั้นต้องมาจากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพด้วย

แล้วทำไม Google ต้องลดความสำคัญของ Backlink

การใช้ Backlink แทนการโหวตก็ดูเป็น Concept ที่ดีอยู่แล้วหนิ แล้วทำไม Google ต้องลดความสำคัญของมันลงด้วยล่ะ ผมคิดว่ามี 3 สาเหตุหลักๆด้วยกันคือ
  1. Backlink ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของเว็บไซต์เสมอไป เว็บไซต์ดีๆแต่ไม่มี Backlink ก็มีเยอะแยะไป แต่สิ่งที่แสดงถึงคุณภาพของเว็บไซต์นั้นๆก็คือ บทความอยู่ที่ในเว็บไซต์ต่างหาก นั่นจึงนำเราไปสู่คำกล่าวที่ว่า Content is king!
  2. Backlink ไม่ได้บ่งบอกถึงการโหวตดังเช่นเมื่อก่อน โอเคล่ะว่ามันยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่ถ้าลองสังเกตกันดูดีๆ Backlink ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเจ้าของเว็บไซต์ที่ทำ SEO โดยการสร้างลิงค์โยงกลับมาหาเว็บไซต์ตัวเอง ยังไม่รวมการทำ SEO สายดำมากมายที่ใช้โปรแกรมสร้าง Backlink เป็นจำนวนมากเพื่อหวังหลอกอัลกอริทึ่มของ Google
  3. Social Media ได้ทำให้พฤติกรรมการสร้าง Backlink ของผู้คนเปลี่ยนไปมากๆ ทุกวันนี้เราไม่ต้องแคร์จำนวนของ Backlink อีกต่อไปแล้ว ขอแค่มีเพจใหญ่ๆนำเอาบทความของเราไปแชร์นั่นจะสร้าง Traffic ได้เป็นจำนวนมากยิ่งกว่า ลองถามตัวเองดูสิครับว่าระหว่าง Backlink จำนวน 1,000 จากเว็บไซต์ต่างๆที่ไม่ก่อให้เกิด Traffic กับ Backlink เพียงหนึ่งเดียวที่มาจาก Facebook เพจดังๆที่มีคนติดตามเป็นล้าน คุณจะเลือกอันไหน ผมเลือกอันหลังเพราะมันมี Impact กับ Traffic ที่เข้าสู่เว็บไซต์ของผมและเป็น Traffic ที่มี Engagement มากกว่า

SEO กับ Backlink ในอนาคต

แล้วเราจะมีแนวทางในการรับมืออย่างไรเมื่อ Backlink ถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จริงๆแล้วต้องบอกอย่างนี้ครับ อันดับของเว็บไซต์เป็นผลพลอยได้จากคุณภาพของเว็บไซต์ คำถามคือจะทำอย่างไรให้บทความมีคุณภาพและเป็นประโยชน์มากที่สุด ทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายรักบทความของเรามากที่สุด แต่!!!!! บทความที่มีคุณภาพอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะพูดกันตามตรง เดี๋ยวนี้ใครๆก็สามารถทำได้ การเขียนบทความให้มีคุณภาพนั้นกลายเป็นเรื่องเบสิคที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องต่อยอดไปจากนั้นก็คือ การทำทั้งเว็บไซต์ให้น่าเชื่อถือ
ประโยคด้านบนนั้นมีความหมายอย่างไร ลองนึกตามดูง่ายๆนะครับ บทความเดียวกัน เขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร ถ้านำไปโพสลงใน 2 เว็บไซต์คือ 1.เว็บไซต์โนเนมธรรมดาๆ กับ 2.เว็บไซต์ใหญ่ๆอย่าง Sanook kapook pantip คุณคิดว่าอันดับของใครจะดีกว่ากัน นี่แหละครับความหมายของเว็บไซต์ที่มีน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ
ผมไม่ได้หมายความว่าต้องทำเว็บไซต์ให้ใหญ่เหมือน Sanook Kapook Mthai Pantip นะครับ และก็ไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์เล็กๆจะไม่มีโอกาสชนะเว็บไซต์ใหญ่ๆได้ เพราะผมเองก็เคยทำ SEO ให้เว็บเล็กๆติดหน้าแรกได้หลายต่อหลาย Keyword แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการจะสื่อก็คือ “จะทำอย่างไรให้ Google เชื่อมั่นว่าเว็บไซต์ของเราเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือมากพอสำหรับบทความเรื่องที่กำลังเขียนอยู่ จะทำอย่างไรให้ Google เชื่อมั่นว่าเว็บเรารู้จริงในเรื่องนั้นๆ”
เพราะผมสังเกตอยู่เสมอว่าเว็บไซต์ใดก็ตามถ้าทำ SEO จนติดอันดับในบาง Keyword ได้แล้ว เดี๋ยว Keyword อื่นๆที่เกี่ยวข้องมันจะค่อยๆตามมาเอง ไม่รู้คิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า (ลองเปิด Google Analytics สังเกตดูสถิติของเว็บไซต์ตัวเองตามไปด้วยก็ได้ครับ Organic Traffic มันจะ Growth จาก Longtail Keyword ที่คล้ายกันรวมกัน)
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการทำ SEO ในยุคปัจจุบันก็คือบทความนั้นจะต้องมีความน่าสนใจจนผู้อ่านอยากนำไปแชร์ต่อด้วย (Shareable content) การเขียนบทความที่กลุ่มเป้าหมายอ่านแล้วอยากจะเอาไปแชร์ต่อใน Social Media ให้เพื่อนๆของเขาได้อ่านกัน และผมก็ยังเชื่อหมดใจเลยว่า Google ให้น้ำหนักกับ Social signal มากด้วยเช่นกัน
credit:hooktalk

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

คนทำเว็บ ควรอ่านบทความนี้นะครับ ธุรกิจเว็บดีไซน์กับ 4 ความท้าทาย และ 2 กลยุทธ์การอยู่รอด

เว็บไซต์ถือเป็นสื่อดิจิตอลรุ่นแรกๆ ในโลก ‘อินเตอร์เน็ตบูม’ ที่สร้างทั้งอาชีพและธุรกิจให้กับ ‘นักทำเว็บ’ ไม่ว่าจะเป็น Web Designer (นักออกแบบ) Web Developer (นักพัฒนาระบบ) และ Web Hosting (ผู้เก็บข้อมูลและดูแลเว็บ) โดยในช่วงสิบปีแรก (1996 - 2006) เว็บไซต์แทบจะเป็นทางเลือกเดียวของการ ‘ปรากฏตัวตน’ บนโลกออนไลน์ของแบรนด์และองค์กรต่างๆ  

Web-Crisis01.jpg

แต่สำหรับในยุคปัจจุบันโลกของคนทำเว็บกำลังถูกท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ ‘เครือข่ายสังคมออนไลน์’ (Social Network) ตั้งแต่ Myspace, Hi5, Facebook ที่เปิดช่องให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างเพจของตัวเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งพานักทำเว็บมืออาชีพอีกต่อไป ทุกวันนี้มี SME จำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้สื่อดิจิตอลเพียงแค่ Facebook, IG หรือ Line โดยไม่ได้คิดจะลงทุนสร้างเว็บไซต์อีกต่อไป 
หรือหากต้องการช่องทางซื้อขายที่เป็นระบบหน่อย SME เหล่านี้ก็จะหันไปพึ่งพาบรรดา ‘เว็บใหญ่ๆ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ’ อย่าง Tarad.com หรือ Shopify.com แทน (ตัดปัญหาเรื่องการพัฒนาและการดูแลระบบหลังบ้าน เช่นหน้า shopping cart, payment, report ฯลฯ ออกไปได้หมด)
อีก 2 ความท้าทายหนึ่งที่ตามมาไม่ไกลก็คือ การเกิดขึ้นของ ‘เว็บไซต์สำเร็จรูป’ เช่นพวก Wordpress ที่มีดีไซน์หลากหลายให้เลือกใช้ฟรีๆ (ไม่ต้องอาศัยทักษะชั้นมืออาชีพคุณก็สร้างหน้าเว็บขึ้นเองได้แล้ว) และความฮิตระเบิดของ ‘แอพมือถือ’ ที่ทำให้พฤติกรรมการใช้สื่อดิจิตอลย้ายจากจอคอมมาอยู่บนจอมือถือแทน   (เพราะรองรับลูกเล่นได้มากกว่า และมักจะถูกเปิดซ้ำมากกว่าเว็บ)
Web-Crisis02.jpg

ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้ทำให้บรรดานักทำเว็บทั้งหลายจำต้องผันตัวเองมาไปเป็นนักพัฒนาแอพฯ ให้ได้ด้วย…เพื่อความอยู่รอด!


อย่างไรก็ดี ใช่ว่าความสำคัญของการมีเว็บไซต์หลักหรือเว็บอันเป็นทางการขององค์กรจะสูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง อันที่จริงแล้ว…ยังมีเหตุผลสำคัญ 2 ข้อที่นักพัฒนาเว็บมือโปรฯ สามารถนำมาเป็นข้อได้เปรียบในการทำงานได้

1. เรื่อง ‘ความน่าเชื่อถือขององค์กร’ ด้วยว่าสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค ไอจี หรือไลน์นั้นสามารถสร้างขึ้นได้โดยง่าย(มาก)  ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันสามารถ ‘ปลอม’ ขึ้นได้ง่ายเช่นกัน (!) นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การมีเว็บไซต์หลักสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรหรือธุรกิจขึ้นมาได้ เพราะอย่างน้อยมันก็ต้องอาศัยการลงทุนลงแรงพัฒนาเว็บขึ้นมา แถมยังต้องเสียค่าจดทะเบียน ค่าเช่า hosting ฯลฯ ส่งผลให้แบรนด์นั้นดูมีความเป็นมืออาชีพเหนือคู่แข่งขึ้นมาได้

Web-Crisis03.jpg

2. คือยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อย (กว่า 90% ในไทย) ที่ยังนิยม ‘กูเกิ้ล’ หาข้อมูลสินค้าและบริการก่อนตัดสินใจซื้อ  ซึ่งเมื่อเสิร์ชแล้วกูเกิ้ลก็ย่อมเปิดทางเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์หลักก่อน อันเป็นสิ่งที่แอพฯ มือถือยังเข้ามาทดแทนไม่ได้ ฉะนั้นการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือการทำให้เว็บไซต์ของเราปรากฏอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหา (และนำพาผู้ใช้เว็บเข้าไปที่หน้า Landing page ของแบรนด์โดยตรง) ก็ยังเป็นสิ่งที่โซเชียลมีเดียไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะมีแค่หน้าโปรไฟล์ หน้าอัลบั้มรูป และโพสต์ต่างๆ ที่ดัดแปลงไม่ค่อยได้นัก

Web-Crisis04.jpg

สรุปปิดท้าย

- เว็บไซต์หลักจะยังคงมีบทบาทที่สำคัญของมันเอง โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และความเป็นมืออาชีพสูงๆ  
- นักทำเว็บทั้งหลายควรต้องหันมาใส่ใจกับ 2 จุดแข็งอันเป็นข้อได้เปรียบของการมีเว็บไซต์ (โดยเฉพาะเรื่อง SEO) เพราะนี่คือหนทางเดียวที่คุณจะเอาชนะความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาจากเครื่องมือสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดียหรือแอพมือถือได้อย่างอยู่หมัด

cridit: tcdcconnect

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

LINE เปิด API ให้ร้านค้าเชื่อมต่อแอพได้ แชทได้ และกำลังจะมีบ็อต

ประกาศสำคัญของงานแถลงข่าว LINE คือการเปิด LINE Business Platform ให้คนอื่นเข้ามาใช้งานได้มากขึ้น (สักที!) รายละเอียดของการเปิดแพลตฟอร์มแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เปิดให้ Web Service, เปิดให้ SME, เปิดให้นักพัฒนา
รายละเอียดมีดังนี้ครับ

1. Web Service

ที่ผ่านมา LINE Platform เปิดให้เฉพาะบริการในเครือของ LINE เองเท่านั้น เช่น LINE News, LINE Live, LINE Part Time Jobs แต่ตอนนี้บริษัทพร้อมเปิด Platform ให้กับเว็บเซอร์วิสนอกบริษัทแล้ว
เว็บเซอร์วิสที่มาเชื่อมต่อจะเรียกว่า Official Web Apps สามารถเข้าถึงฟีเจอร์มาตรฐานของ Platform เช่น ระบบล็อกอิน, ระบบจ่ายเงิน LINE Pay, ระบบสะสมแต้ม, LINE Business Connect API
ผู้ใช้ LINE จะสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้จากแอพ LINE โดยตรง ไม่ต้องลำบากสร้างบัญชีล็อกอินใหม่ สามารถกรอกข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกไว้ใน Profile+ ได้อัตโนมัติ การใช้งาน Web Apps ยังสามารถสะสมแต้ม LINE Points ได้ด้วย
เป้าหมายของ LINE ก็ชัดเจนว่าอยากให้คนมาใช้บริการ Web Apps บน LINE Platform แทนการใช้แอพแบบเนทีฟของระบบปฏิบัติการนั้นๆ รายการฟีเจอร์ก็ใกล้เคียงกัน มีระบบข้อความแจ้งเตือนแบบพุช (Push) แต่สะดวกกว่าตรงที่ผู้ใช้ไม่ต้องอัพเดต และไม่ต้องติดตั้งแอพลงในเครื่อง
Web Apps บน LINE Platform ยังถูกค้นพบ (Discovery) ได้ง่ายจากช่องทางต่างๆ เช่น การแชร์ ค้นหา แนะนำ
ลูกค้า LINE ภาคธุรกิจที่มี Official Account อยู่แล้ว สามารถซื้อบริการ Official Web Apps ในราคาเดือนละ 20,000 เยน (ประมาณ 6,300 บาท) ใช้งาน API ได้ไม่จำกัด แต่จำกัดจำนวนเพื่อนที่ 100,000 คน
ตัวบริการจะเปิดในช่วงฤดูร้อนกลางปีนี้ ตอนนี้มีพาร์ทเนอร์ในญี่ปุ่นแสดงความสนใจแล้ว 45 บริษัท

2. SME Partnership Program

หัวข้อแรกเป็นฟีเจอร์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีเงินซื้อ Official Account ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่ใช้ LINE@ ก็ได้ฟีเจอร์ใหม่ด้วยเช่นกัน ภายใต้ชื่อ SME Partnership Program ที่ช่วยให้ธุรกิจใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น
ฟีเจอร์ใหม่มีหลายอย่าง เริ่มจาก Account Page ที่มีระบบปลั๊กอิน เลือกได้ว่าจะแสดงผลข้อมูลอะไรในหน้า Account
Chat API เปิดให้ภาคธุรกิจที่มีระบบส่งข้อความหลังบ้าน สามารถเชื่อมต่อกับระบบแชทของ LINE@ ได้ ตัวอย่างการใช้งาน เช่น จองโต๊ะร้านอาหารผ่านการแชทใน LINE หรือ สอบถามข้อมูลสินค้าทาง LINE
ฟีเจอร์เหล่านี้จะเริ่มเปิดบริการในเดือนเมษายน 2016

3. Developers

ฟีเจอร์ส่วนนี้เปิดสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ สิ่งที่น่าสนใจคือ LINE กำลังจะมี Chat Bot ครับ เปิด API ให้เราสามารถเชื่อมระบบ CRM หรือ IoT เข้ามาแชทได้
Chat Bot API และ Chat Bot Store เริ่มทดสอบระบบในเดือนเมษายนนี้ และเปิดใช้งานจริงช่วงกลางปี
ฟีเจอร์สำคัญอีกอย่างคือ เปิดระบบ Beacon ให้ LINE สามารถรับรู้ข้อมูลจากสถานที่ได้ ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า สามารถโปรโมทส่วนลดหรือกิจกรรมต่างๆ เมื่อผู้ใช้ LINE เดินเข้ามาในรัศมีของ Beacon (Bluetooth LE) บริการจะเริ่มทดสอบในเดือนพฤษภาคม
ฟีเจอร์อย่างที่สามคือ Chat AI ระบบบ็อตแบบปัญญาประดิษฐ์ (เหมือนกับ Facebook M) รูปแบบคือเปิดให้ปลั๊กอินภายนอกเข้ามาเชื่อมต่อได้ แปลว่าในอนาคต LINE จะฉลาดเข้าขั้น "ถามอะไรตอบได้" สามารถคุยกันได้เหมือนมนุษย์
บริการตัวนี้ต้องรอนานหน่อย เปิดปลายปีโน่นเลย
ในภาพรวมก็คือ หลังจากที่เรียกร้องกันมานาน ในที่สุด LINE ก็จะทำตัวเองเป็นแพลตฟอร์มกับเขาบ้างแล้ว (เหมือนกับที่ Facebook, Google ทำอยู่) ภาคธุรกิจจะสามารถสร้างแอพมาเชื่อมต่อ มาแชทคุยกับลูกค้าได้โดยตรง ผ่าน API ที่ LINE เตรียมไว้ให้เรานั่นเอง
กำหนดการของฟีเจอร์ต่างๆ ที่มาไม่พร้อมกัน
credit: blocknone

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

Anti-Packaging

เรารู้กันดีว่าการรีไซเคิลเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่มองไกลกว่า พวกเขาเชื่อว่าการไม่มีของเสียให้รีไซเคิลตั้งแต่แรกดีที่สุด
ที่เบอร์ลิน, เยอรมนี มีร้านขายของร้านหนึ่งชื่อ Original Unverpackt เป็นร้านขายอาหารประเภทของชำทั่วไป ตัวร้านถูกออกแบบโดย Michael J. Brown นักออกแบบชาว Los Angeles ให้สวยเรียบแบบโมเดิร์นและแสดงออกถึงแนวคิด Precycling ได้อย่างสมบูรณ์ บนความเชื่อที่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องกำจัดขยะ ถ้าคุณไม่ได้สร้างมันขึ้นมาตั้งแต่แรก ถ้าไม่มีการใช้พลาสติก กระดาษ หรือเหล็ก คุณก็ไม่ต้องหาวิธีจัดการกับมันทีหลัง
คนส่วนใหญ่มาที่นี่โดยปั่นจักรยาน พร้อมถือถุงตาข่ายหรือกระเป๋าผ้าของตัวเองมาด้วย และเลือกซื้อของที่พวกเขาต้องการที่เรียงรายอยู่ตามชั้นข้างกำแพง เช่น เมล็ดถั่ว หรือธัญพืชต่างๆ ชั่งตวงใส่กระป๋อง หรือขวดที่พวกเขาเอามาเอง เลือกรินน้ำมันมะกอก น้ำส้มสายชู ซอสถั่วเหลืองใส่หม้อที่เตรียมมาเองเช่นกัน ลูกค้าคนหนึ่งเลือกผลไม้อบแห้งอยู่และพบว่าเมล็ดภายในของมันหลุดออกมา เธอไม่รู้จะทำยังไงกับมันเพราะในร้านไม่มีทั้งทิชชู่และถังขยะ เธอจึงตัดสินใจเก็บเมล็ดนั้นใส่กระเป๋าเพื่อไม่ก่อขยะในการช้อปปิ้งครั้งนี้
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่เอเยนซี่ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแนะนำให้โลกได้รู้จักกับแนวคิด Precycling แต่ไม่ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกัน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากในยุโรปที่เป็นเจ้าของกิจการที่มีจริยธรรมและมีหัวใจด้านอนุรักษ์พยายามเปลี่ยนวิธีการช้อปปิ้งโดยนำเสนอร้านค้าแบบใหม่ที่ถูกวางระบบมาเป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่พวกเราถูกตามใจจนเคยตัว และคุ้นชินกับการมีตัวเลือกมากมายในร้านขายของชำ แค่จะเลือกซื้อบะหมี่ก็มีหลายยี่ห้อให้ตัดสินใจ แต่ทฤษฎีนี้จะทำในสิ่งที่เชยเฉิ่ม คือมีตัวเลือกเพียง 1 หรือ 2 จากเจ้าของร้านเท่านั้น “มีข้าวเพียงแบบเดียวเท่านั้นในร้านของฉัน เพราะฉันไม่ต้องการให้มีการต่อสู้ของข้าวเกิดขึ้นในร้าน ฉันเลือกให้คุณแล้ว” Andrea Lunzer หนึ่งในเจ้าของร้านแนวใหม่นี้เปิดเผย 
ร้านของ Lunzer ออกแบบอย่างสวยงาม และมี Kathrina Dankl ดีไซน์เนอร์คนเก่งมาช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์การซื้อสินค้าให้กับลูกค้าของเธอ “เราอยากให้มันหรูหราและเป็นมิตร เพราะนี่คือวิธีใหม่ในการที่คุณจะเลือกช้อปปิ้ง ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีมันง่ายมาก เหมือนที่คุณยายเราคุ้นเคยในสมัยก่อน เวลาที่ท่านไปร้านขายของชำแถวบ้านที่สนิทกัน เราแค่ทำให้มันเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ให้เป็นที่ที่คุณจะสามารถตามใจตัวเองได้เหมือนเคย แต่มีสติในการซื้อแต่ละอย่างมากขึ้น”
Judit Vidal และ Iban Àlvaro เป็นอีกคู่หนึ่งที่เปิดร้านขนาดใหญ่ถึง 12 ร้าน ประสบการณ์ด้านศิลปะและสถาปัตย์ช่วยให้พวกเขาออกแบบร้านค้าปลีกของเขาในแบบที่ต่างออกไป โถใส่คาราเมล เมล็กพืช น้ำมันมะกอก และน้ำผึ้งถูกจัดวางเอาไว้บนชั้นในระดับสายตา ในโหลแก้วใสไร้ซึ่งฉลากและบรรจุภัณฑ์ใดๆ ปล่อยให้สี และรูปทรงของมันโฆษณาตัวมันเอง ของบางอย่างอยู่บนชั้นสูง ที่ต้องปีนบันไดขึ้นไป เพิ่มสีสันในการช้อปให้กับกลุ่มวัยรุ่น ในขณะที่คนอายุเยอะก็ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการกะปริมาณสิ่งของที่จะซื้อให้พอดีกับที่พวกเขาต้องการจริงๆ  
นอกจากนั้นยังมีร้านของ Gérard Bellet และ Jean Bouteille ที่ให้ลูกค้าของพวกเขารินน้ำส้มสายชู ไวน์ หรือน้ำยาซักผ้าใส่ขวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลูกค้าต้องจ่ายค่าขวดเพียงเล็กน้อยและนำไปใช้ หลังจากนั้นทำความสะอาดและนำกลับมาซื้อของที่ร้านได้อีกจนกว่ามันจะแตก
ข้อดีอีกอย่างของร้านแบบนี้คือทำให้เรารู้ตัวว่าจริงๆแล้วเรากำลังมองหาอะไรกันแน่ อะไรคือสิ่งที่เราต้องการซื้อจริงๆ แพคเกจสวยๆ หรือสิ่งที่อยู่ข้างใน? ทุกวันนี้แพคเกจจิ้งบดบังคุณค่าที่แท้จริงอันสวยงามของอาหารที่เรากำลังมองหาไปหมด นี่คือทางเลือกหนึ่งในการช้อปปิ้งที่เราได้คิดมากกว่าเดิมอีก 1 ขั้น เพียงแค่ต้องปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สินค้าแทบทุกประเภทสามารถนำถูกขายด้วยวิธีนี้ได้ แค่ปรับให้เหมาะสมกับขนาดและรูปร่างของมัน เช่นที่ร้านหนึ่งขายเส้นสปาเกตตี้โดยให้ลูกค้าใส้ถุงมือแล้วหยิบมันไปจากโถแก้วตามจำนวนที่ต้องการ
มันทำให้เราย้อนกลับมาคิดดอีกครั้งว่าทำไมของหลายๆ อย่างในปัจจุบันต้องห่อหุ้มอย่างแน่นหนาภายใต้วัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครจับเมล็ดกาแฟจนกว่ามันจะถูกชง แต่เราก็ยังคุ้นชินกับการซื้อของที่ถูกบรรจุอยู่ในสิ่งที่ต่อไปก็ต้องกลายเป็นขยะ ร้านค้าปลีกใหญ่ๆ ในอเมริกายังคงเถียงว่าเรื่องนี้ทำให้จริงจังกว่านี้ในระดับโลกได้ยาก แต่มันก็เกิดขึ้นในอย่างจริงจังแล้วในยุโรป นอกจากจะลดขยะที่ย่อยสลายยากแล้ว การขายแบบนี้ยังเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ซื้อของในปริมาณที่พวกเขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่ซื้อตามปริมาณที่แพคเกจจิ้งกำหนด นับเป็นแนวทางใหม่ที่น่าสนใจและช่วยโลกได้ดีทีเดียว
Credit:brand buffet

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

Scott Britton กับวิธีสร้างรายได้จาก Udemy แม้คุณจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม

ผมเป็นแฟนคลับคนหนึ่งของ Nick Loper บล็อกเกอร์ชื่อดังเจ้าของเว็บไซต์ sidehustlenation.com ซึ่งเผยแพร่บทความและพ็อดคาสท์เกี่ยวกับ แนวทางการหารายได้เสริมควบคู่ไปกับงานประจำ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Side Hustle ผมรู้จัก Nick ครั้งแรกจากบทความหนึ่งในเว็บไซต์ Entrepreneur.com กับเรื่องราวของชายผู้ตีพิมพ์อีบุ๊ค Work Smarter ขายสร้างรายได้ 1,400 เหรียญ (ราว 50,000 บาท) ภายใน 30 วัน
ผมลองค้นหาข้อมูลของ Nick เพิ่มเติม และพบว่าชายคนนี้ตีพิมพ์อีบุ๊คขายบน Amazon หลายเล่ม ด้วยความที่ Nick เป็นบล็อกเกอร์ ประกอบกับช่วงนั้นผมสนใจที่จะหารายได้เสริมจากการเขียนอีบุ๊คขาย ผมจึงไปลงคอร์สของ Nick บน Udemy ชื่อ Kindle Launch Plan: $1400 in 30 Days & an Amazon Bestseller เรียนเสร็จผมก็นำแนวทางของ Nick มาเขียนอีบุ๊คเล่มแรกของผมเองขายได้สำเร็จ
Scott Britton กับวิธีสร้างรายได้จาก Udemy แม้คุณจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
Photo credit: The Productivityist Podcast 70: The Art of The Side Hustle with Nick Loper
แนวทางการสร้าง Information Product ของ Nick มาจากการเขียนบล็อก รวบรวมเนื้อหาในบล็อกมาแพ็คเป็นเล่มวางขายบน Amazon อยู่หลายเล่ม รวมถึงพ็อดคาสท์ที่ถูกทำเป็นหนังสือเสียงด้วย จนกระทั้งมาถึงเล่ม Work Smarter ที่ทำรายได้น่าพอใจ จนมีหลายคนเข้ามาสอบถาม Nick ว่าถ้าอยากเลียนแบบวิธีการของ Nick พวกเขาต้องทำอย่างไร Nick เห็นโอกาสจึงอัดวิดีโอสอนวิธีการตีพิมพ์อีบุ๊คขายในรูปแบบคอร์สออนไลน์บน Udemy
บทความนี้ผมเขียนขึ้น เพราะมีแฟน START IT UP อ่านบทความ และส่งอีเมล์เข้ามาสอบถามผมเกี่ยวกับ “การหารายได้เสริม” ในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางคนมองว่าการทำสตาร์ทอัพเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมในการเริ่มต้นด้วยคน ๆ เดียว ซึ่งก็จริง เพราะการทำสตาร์ทอัพต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทีม เงิน เวลา และโอกาส+โชค
กระนั้นเราก็ต้องไม่ลืมว่าอินเทอร์เน็ตไม่เพียงเปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ กลับมาที่เรื่องของ Side Hustle ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในสายนี้จะเป็น Solopreneur (ผู้ประกอบการฉายเดี่ยว) คือ เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองก่อน จากรายได้ไม่มาก จนเมื่อถึงจุดที่รายได้เกินงานประจำค่อยลาออกจากงานมาทำเต็มตัว
หลังจากที่ผมได้อ่านบทความผู้ประกอบการ Side Hustle ที่ Nick เป็นคนสัมภาษณ์ มันเปิดโลกทัศน์ผมหลายอย่างเกี่ยวกับ Side Hustle แม้จะเป็นบทความและแนวทางในต่างประเทศ แต่ผมคิดว่าผู้อ่านสามารถเอาแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับบริบทในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย หากคุณพร้อมแล้วเรามาติดตามกันเลยครับ

เรื่องราวของ Scott Britton

Scott Britton เริ่มต้นอาชีพการสอนของเขาบน Skillshare โดยเขาเสนอคลาสที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ
ตั้งแต่ที่ Skillshare เปลี่ยนไปเป็น Platform แบบออนไลน์ Scott จึงเบนเข็มไปที่ Udemy เพราะมีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่กว่า มันคล้ายกับกรณีของ Amazon vs. Barnes and Noble ที่หากคุณต้องการขายหนังสือ คุณควรขายฝั่งเจ้าตลาดก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาขยายไปขายยังที่อื่น ซึ่งวิธีนี้ง่ายและประหยัดเงินกว่า
ถ้าคุณมีฐานแฟนอยู่แล้ว Udemy ไม่ใช่ช่องทางที่ดีนักในการขายคอร์ส ในทางกลับกัน Udemy เป็นที่ที่สุดยอดมากหากคุณต้องการเข้าถึงผู้เรียนใหม่ ๆ กว่า 2 ล้านคน ซึ่งพวกเขาไม่รู้จักคุณมาก่อน

การสร้างคอร์ส

ในอดีตการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง คุณต้องร่ำเรียนศาสตร์นั้น ๆ แล้วสอบวัดว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ แต่ในปัจจุบันคุณสามารถที่จะวิจัยและคัดสรรเนื้อหาคุณภาพดีที่สุดในเรื่องนั้น ๆ ได้ด้วยตนเองเพื่อแสดงถึงความเชี่ยวชาญที่คุณมี
ยกตัวอย่างเช่น Scott ไม่ได้ผ่านการรับรองว่าเขาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน แต่เขาสามารถช่วยให้นักเรียนหลายพันคนสามารถวิเคราะห์การนอนของตนเองได้ผ่านคอร์สเรียนที่ Scott สร้างขึ้น
Scott ใช้วิธีทำ Powerpoint ประกอบการสอน และเริ่มอัดวิดีโออธิบายด้วยโปรแกรม Screencastomatic ซึ่งมีราคาเพียง 15 เหรียญ
ถ้าคุณสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขอให้รู้เยอะกว่าผู้เรียน และพยายามทำวิจัย เท่านี้คุณก็สามารถเป็นครูผู้สอนได้แล้ว Scott ใช้เวลา 18 ชั่วโมงไปกับการวิจัย เพื่อสร้างคอร์ส Sleep Hacking ความยาว 4.5 ชั่วโมง ขายในราคา 49 เหรียญ

ขายคุณค่าไม่ใช่ราคา

คอร์สของ Scott สัญญาว่าจะช่วยให้ผู้เรียนประหยัดเวลาได้ชั่วโมงครึ่งจากการหลับต่อครั้ง (ในตอนกลางคืน) คุณค่าที่คอร์สเรียนนี้ส่งมอบให้กับผู้เรียนคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือช่วยให้มีเวลากับเพื่อนฝูงและครอบครัวมากขึ้น

การทำตลาด

การที่จะขายคอร์สเรียนได้นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างคือ
  1. คะแนนและรีวิว
  2. จำนวนนักเรียนที่มาลงทะเบียน
เราจะเห็นตัวชี้วัดทั้ง 2 นี้ในแต่ละคอร์สเรียนบน Udemy โดยธรรมชาติแล้วคอร์สที่มีคะแนนสูง และจำนวนผู้ลงทะเบียนเยอะจะถูกมองว่าคอร์สนั้นดีกว่าคอร์สอื่น ๆ ในเรื่องเดียวกัน และมีโอกาสขายได้มากกว่าคอร์สเรียนที่ไม่มีคนลงเรียนและรีวิว
Scott มีอีเมล์รายชื่อของเพื่อน ๆ และครอบครัวที่น่าจะสนใจคอร์สเรียนของเขา หลังจากที่ปล่อยคอร์สเรียนออกไป ชายหนุ่มได้ส่งอีเมล์หาคนเหล่านี้ พร้อมเสนอคูปองเพื่อใช้เรียนฟรี แต่ต้องแลกกับการเขียนรีวิวเชิงบวกให้
ข้อดี คือ ถ้าคุณยังไม่มีรายชื่ออีเมล์จำนวนมาก เพราะไม่มีใครรู้จักคุณ คุณสามารถใช้วิธีนี้ได้โดยการส่งอีเมล์สอบถามผู้คนที่คุณรู้จัก กลยุทธนี้ทำให้ Scott ได้รับ 10 รีวิว ซึ่งในตอนแรกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้รีวิวเป็นเลข 2 หลัก
กลยุทธต่อมาที่ Scott แนะนำ คือ การปล่อย Teaser ใน Twitter หรือ Facebook พร้อมกับข้อความเชิญชวนว่า “อีกหนึ่งสัปดาห์ผมจะปล่อยคอร์สเรียนนี้ ใครที่สนใจสามารถมาดูได้ฟรี” จากนั้นคุณก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่อยากรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่คุณปล่อยออกไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะช่วยเขียนรีวิวในช่วงแรกให้กับคุณได้

วิธีเพิ่มจำนวนนักเรียน

เป้าหมายของ Scott คือ หาคนมาลงเรียนให้ได้ 1,000 คน เพื่อที่ในอนาคตเขาจะได้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น BlackHatForum.com เป็นอีกที่หนึ่งที่ Scott เข้าไปโพสต์กระทู้เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเรียนคอร์สของเขา โดยการแจกคูปองเรียนฟรีที่นั่น
ภายใน 24 ชม. เขาก็ได้ผู้เรียน 1,000 คนสมใจ พอถึงเป้าหมายที่ต้องการ Scott แนะนำยกเลิกคูปองเรียนฟรี เพื่อป้องกันการค้นเจอใน Search Engine หรืออาจมีคนหัวใสนำไปขายต่อผู้อื่นอีกที

อัลกอริทึมการจัดอันดับของ Udemy

Scott เรียกอัลกอริทึมของ Udemy ว่าเป็นระบบจัดอันดับแบบอิงความเร่ง คือ ยิ่งคอร์สนั้น ๆ มีนักเรียนใหม่มาลงทะเบียนมาก ๆ เข้าภายใน 7 วัน ก็จะยิ่งช่วยให้คอร์สเรียนใหม่สามารถไต่ไปอันดับแรก ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณควรมียอดรีวิวและจำนวนนักเรียนเยอะ ๆ ในช่วงแรก เพราะมันทำให้โอกาสขายของคุณเพิ่มมากขึ้น

กฏ 10%

Scott กล่าวว่า มีคนเพียง 10% เท่านั้นที่ดูวิดีโอคอร์สเรียนของคุณจนจบทุกตอน (รวมถึงอีบุ๊ค และเนื้อหาอื่น ๆ) ดังนั้นถ้าคุณจะรอให้คนมาดูจบและเขียนรีวิวให้ คุณจะเสียโอกาสมากมายเลยล่ะ
ดังนั้น Scott จึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 Part ใหญ่ ๆ โดยร้องขอให้นักเรียนเขียนรีวิวให้เมื่อพวกเขาเรียนจบแต่ละ Part เขาอธิบายว่ามีนักเรียนบางคนรู้สึกตื่นเต้นที่จะนำความรู้ที่ได้ไปลองใช้ทันที พวกเขาอาจไม่ได้ดูวิดีโอจนจบ แต่รีวิวเหล่านั้นก็ช่วยดึงดูดนักเรียนใหม่ ๆ ให้ค้นพบคอร์สเรียนตัวนี้
นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า วิดีโอคอร์สเรียนที่พ่วงด้วยเนื้อหาสอนการเขียนรีวิว ถ้าเนื้อหามีคุณค่าจริง ผู้คนก็มักเต็มใจที่จะสละเวลา 1 นาทีในการเขียนรีวิวให้

ใช้ Udemy เก็บอีเมล์ลูกค้า

ในตอนจบของแต่ละ Part คุณสามารถเสนอเนื้อหาโบนัสพิเศษให้กับผู้เรียนได้ โดยการให้พวกเขาเข้าไปที่เว็บไซต์ของคุณ และกรอกอีเมล์เพื่อรับสิทธิ์ในการเข้าถึงหรือดาวน์โหลดเนื้อหาโบนัสเหล่านั้นได้

การตั้งราคา

ในช่วงที่คุณปล่อยคอร์สฟรี คุณสามารถเพิ่มราคาคอร์สเพื่อกระตุ้นการรับรู้ถึงคุณค่าของมันแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ โดยส่วนมากคนมักชอบลงทะเบียนคอร์สฟรีราคา 99 เหรียญ มากกว่าคอร์สฟรีราคา 29 เหรียญ แม้ว่ามันจะฟรีเหมือนกันก็ตาม

ทดสอบการตั้งชื่อคอร์ส

คุณสามารถนำโค้ด Google Analytic มา Track คอร์สเรียนของคุณบน Udemy ได้ ดังนั้นคุณจะตรวจสอบ Conversion rate (อัตราที่ผู้ชมจะกลายเป็นผู้ซื้อ) จากการเปลี่ยนชื่อคอร์ส หรือปัจจัยอื่น ๆ ลองทดสอบตั้งชื่อ และกลับมาดูผลใน 2 อาทิตย์ ว่ามัน work หรือไม่ นอกจากนี้คุณยังใช้วิธีนี้ทดสอบเรื่องการตั้งราคาต่าง ๆ ได้อีกด้วย

รายได้จาก Udemy

กรณีที่ผู้สอนให้ Udemy ช่วยทำการตลาดให้ รายได้ที่จะได้รับ คือ 50% ถ้าหากผู้สอนดำเนินการหาคนมาเรียนเอง Udemy จะชาร์จ 3% โดยหักผ่านบัตรเครดิต ส่วนที่เหลือ 97% ของเป็นของเจ้าเนื้อหา


ความเห็นจากผู้เขียน

Udemy กับ Amazon มีความคล้ายกัน คือ เป็นเจ้าตลาดใน Content นั้น ๆ นั่นหมายความว่าแม้คุณเป็นคนแปลกหน้า (ไม่มีชื่อเสียง) หาก Content ของคุณดีจริงคุณก็มีโอกาสขายได้ (พิจารณาจากความน่าจะเป็นที่สูงขึ้นตามจำนวนลูกค้าใน Platform ดังกล่าว)
อย่างไรก็ตามหลักการ Give first get later ยังคงใช้ได้ดีอยู่เสมอ คุณจะเห็นได้ว่า Scott เปิดโอกาสให้ผู้เรียนรุ่นบุกเบิกได้เรียนฟรี แลกกับการเขียนรีวิว เพื่อให้คอร์สของเขาไปปรากฏอันดับต้น ๆ ของ Udemy
ในเมืองไทยผมขอยกตัวอย่าง คอร์สเรียนสอนเขียนแอพ Android ของพี่นู๋เนย ที่เพิ่งปล่อยไปบน Udemy เหมือนกัน มีคนสนใจลงทะเบียนเรียนมากมาย ใช้หลักการเดียวกันครับ โดยพี่เนยจะเน้นการเขียนบทความคุณภาพให้ความรู้ในการพัฒนาแอพ Android แบบฟรี ๆ ในเว็บของตัวเองอย่างinthecheesefactory และ nuuneoi.com
นี่แสดงให้เห็นว่าในตลาดที่แคบลงมา (เฉพาะในเมืองไทย) ทำไมคุณต้องมีฐานแฟน ทำไมคุณต้องให้ก่อนรับ ก็เพราะลูกค้าที่ซื้อของคุณเค้ารู้จักคุณไง ผ่านเนื้อหาฟรีที่มีประโยชน์และคุณค่าที่คุณเป็นคนนำเสนอ ซึ่งต่างกับเคสต่างประเทศที่มีลูกค้าจำนวนมหาศาล โอกาสในการขายออกเลยเยอะกว่า
ดังนั้นที่ผมอยากแนะนำ คือ ถ้า Content ของคุณเป็นภาษาอังกฤษ อย่าลืมลองทดสอบกับตลาดระดับโลกดู แต่ถ้าหาก Content ของคุณเป็น Local อย่าลืมสร้าง Authority หรือความเป็นกูรูในด้านนั้น ๆ ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณได้รู้จักครับ ซึ่งในระยะยาวแล้ว Authority เป็นตัวที่ทำให้ผู้ประกอบการ Solopreneur ได้เปรียบในการแข่งขันครับ
credit: startitup

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

5 Soft Skills ที่คนไอทีควรมี

นอกจากทักษะด้านเทคนิค หรือ Technical skills จะมีความสำคัญกับคนทำงานในสายอาชีพไอทีแล้ว ทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน หรือ Soft skills ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนไอทีก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในสายอาชีพของตนเอง 5 ทักษะนี้ ได้แก่
  • การสื่อสาร (Communication)
    หลายครั้งที่คนในสายอาชีพอื่นมองว่า “ภาษาของคนไอที” เข้าใจอยาก เพราะเต็มไปด้วยคำศัพท์ด้านเทคนิคมากมายที่คนไอทีเข้าใจกัน จะมีประโยชน์อะไรหากคุณสร้างสรรค์ผลงานที่ดีแต่ไม่สามารถอธิบายให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ ความสามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย อธิบายสิ่งที่เป็น Technical ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่คนไอทีควรจะมี นอกจากนี้ในยุคปัจจุบัน การเรียนรู้เพิ่มเติมด้านการสื่อสารภาษาสากลเช่น ภาษาอังกฤษ จะทำให้คุณสามารถก้าวหน้าได้มากกว่าคนไอทีคนอื่นที่ไม่สามารถสื่อสารในภาษาอังกฤษได้
  • รับฟังและโต้ตอบอย่างเหมาะสม (Listen and Receptive Feedback)
    ฟังข้อมูลจากผู้อื่นด้วยใจที่เปิดรับ ปราศจากอคติ และแสดงความคิดเห็นหรือโต้ตอบบนพื้นฐานของเหตุผลและไม่ใช้อารมณ์
     
  • ปรับตัวได้ดี (Adaptability / Flexibility)
    สามารถประยุกต์ความรู้และทักษะที่ตัวเองมีให้เข้ากับธุรกิจและงานที่ได้รับมอบหมาย และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร
     
  • ศีลธรรมและความรับผิดชอบ (Integrity and Accountability)
    ความซื่อสัตย์ มุ่งมั่น และตั้งใจในงานที่ทำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกสายอาชีพและเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จในสายอาชีพในระยะยาว
     
  • ความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นสิ่งใหม่ (Creativity and Innovation)
    ความคิดสร้างสรรค์ของคนไอทีผลักดันให้เกิดของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นบนโลก การเปิดเวทีแชร์ข้อมูลจึงเป็นช่องทางให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ หรือแม้แต่แนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา