วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

คนทำเว็บ ควรอ่านบทความนี้นะครับ ธุรกิจเว็บดีไซน์กับ 4 ความท้าทาย และ 2 กลยุทธ์การอยู่รอด

เว็บไซต์ถือเป็นสื่อดิจิตอลรุ่นแรกๆ ในโลก ‘อินเตอร์เน็ตบูม’ ที่สร้างทั้งอาชีพและธุรกิจให้กับ ‘นักทำเว็บ’ ไม่ว่าจะเป็น Web Designer (นักออกแบบ) Web Developer (นักพัฒนาระบบ) และ Web Hosting (ผู้เก็บข้อมูลและดูแลเว็บ) โดยในช่วงสิบปีแรก (1996 - 2006) เว็บไซต์แทบจะเป็นทางเลือกเดียวของการ ‘ปรากฏตัวตน’ บนโลกออนไลน์ของแบรนด์และองค์กรต่างๆ  

Web-Crisis01.jpg

แต่สำหรับในยุคปัจจุบันโลกของคนทำเว็บกำลังถูกท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ ‘เครือข่ายสังคมออนไลน์’ (Social Network) ตั้งแต่ Myspace, Hi5, Facebook ที่เปิดช่องให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างเพจของตัวเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งพานักทำเว็บมืออาชีพอีกต่อไป ทุกวันนี้มี SME จำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้สื่อดิจิตอลเพียงแค่ Facebook, IG หรือ Line โดยไม่ได้คิดจะลงทุนสร้างเว็บไซต์อีกต่อไป 
หรือหากต้องการช่องทางซื้อขายที่เป็นระบบหน่อย SME เหล่านี้ก็จะหันไปพึ่งพาบรรดา ‘เว็บใหญ่ๆ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ’ อย่าง Tarad.com หรือ Shopify.com แทน (ตัดปัญหาเรื่องการพัฒนาและการดูแลระบบหลังบ้าน เช่นหน้า shopping cart, payment, report ฯลฯ ออกไปได้หมด)
อีก 2 ความท้าทายหนึ่งที่ตามมาไม่ไกลก็คือ การเกิดขึ้นของ ‘เว็บไซต์สำเร็จรูป’ เช่นพวก Wordpress ที่มีดีไซน์หลากหลายให้เลือกใช้ฟรีๆ (ไม่ต้องอาศัยทักษะชั้นมืออาชีพคุณก็สร้างหน้าเว็บขึ้นเองได้แล้ว) และความฮิตระเบิดของ ‘แอพมือถือ’ ที่ทำให้พฤติกรรมการใช้สื่อดิจิตอลย้ายจากจอคอมมาอยู่บนจอมือถือแทน   (เพราะรองรับลูกเล่นได้มากกว่า และมักจะถูกเปิดซ้ำมากกว่าเว็บ)
Web-Crisis02.jpg

ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้ทำให้บรรดานักทำเว็บทั้งหลายจำต้องผันตัวเองมาไปเป็นนักพัฒนาแอพฯ ให้ได้ด้วย…เพื่อความอยู่รอด!


อย่างไรก็ดี ใช่ว่าความสำคัญของการมีเว็บไซต์หลักหรือเว็บอันเป็นทางการขององค์กรจะสูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง อันที่จริงแล้ว…ยังมีเหตุผลสำคัญ 2 ข้อที่นักพัฒนาเว็บมือโปรฯ สามารถนำมาเป็นข้อได้เปรียบในการทำงานได้

1. เรื่อง ‘ความน่าเชื่อถือขององค์กร’ ด้วยว่าสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค ไอจี หรือไลน์นั้นสามารถสร้างขึ้นได้โดยง่าย(มาก)  ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันสามารถ ‘ปลอม’ ขึ้นได้ง่ายเช่นกัน (!) นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การมีเว็บไซต์หลักสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรหรือธุรกิจขึ้นมาได้ เพราะอย่างน้อยมันก็ต้องอาศัยการลงทุนลงแรงพัฒนาเว็บขึ้นมา แถมยังต้องเสียค่าจดทะเบียน ค่าเช่า hosting ฯลฯ ส่งผลให้แบรนด์นั้นดูมีความเป็นมืออาชีพเหนือคู่แข่งขึ้นมาได้

Web-Crisis03.jpg

2. คือยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อย (กว่า 90% ในไทย) ที่ยังนิยม ‘กูเกิ้ล’ หาข้อมูลสินค้าและบริการก่อนตัดสินใจซื้อ  ซึ่งเมื่อเสิร์ชแล้วกูเกิ้ลก็ย่อมเปิดทางเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์หลักก่อน อันเป็นสิ่งที่แอพฯ มือถือยังเข้ามาทดแทนไม่ได้ ฉะนั้นการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือการทำให้เว็บไซต์ของเราปรากฏอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหา (และนำพาผู้ใช้เว็บเข้าไปที่หน้า Landing page ของแบรนด์โดยตรง) ก็ยังเป็นสิ่งที่โซเชียลมีเดียไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะมีแค่หน้าโปรไฟล์ หน้าอัลบั้มรูป และโพสต์ต่างๆ ที่ดัดแปลงไม่ค่อยได้นัก

Web-Crisis04.jpg

สรุปปิดท้าย

- เว็บไซต์หลักจะยังคงมีบทบาทที่สำคัญของมันเอง โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และความเป็นมืออาชีพสูงๆ  
- นักทำเว็บทั้งหลายควรต้องหันมาใส่ใจกับ 2 จุดแข็งอันเป็นข้อได้เปรียบของการมีเว็บไซต์ (โดยเฉพาะเรื่อง SEO) เพราะนี่คือหนทางเดียวที่คุณจะเอาชนะความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาจากเครื่องมือสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดียหรือแอพมือถือได้อย่างอยู่หมัด

cridit: tcdcconnect

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น