ผมเป็นแฟนคลับคนหนึ่งของ Nick Loper บล็อกเกอร์ชื่อดังเจ้าของเว็บไซต์ sidehustlenation.com ซึ่งเผยแพร่บทความและพ็อดคาสท์เกี่ยวกับ แนวทางการหารายได้เสริมควบคู่ไปกับงานประจำ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Side Hustle ผมรู้จัก Nick ครั้งแรกจากบทความหนึ่งในเว็บไซต์ Entrepreneur.com กับเรื่องราวของชายผู้ตีพิมพ์อีบุ๊ค Work Smarter ขายสร้างรายได้ 1,400 เหรียญ (ราว 50,000 บาท) ภายใน 30 วัน
ผมลองค้นหาข้อมูลของ Nick เพิ่มเติม และพบว่าชายคนนี้ตีพิมพ์อีบุ๊คขายบน Amazon หลายเล่ม ด้วยความที่ Nick เป็นบล็อกเกอร์ ประกอบกับช่วงนั้นผมสนใจที่จะหารายได้เสริมจากการเขียนอีบุ๊คขาย ผมจึงไปลงคอร์สของ Nick บน Udemy ชื่อ Kindle Launch Plan: $1400 in 30 Days & an Amazon Bestseller เรียนเสร็จผมก็นำแนวทางของ Nick มาเขียนอีบุ๊คเล่มแรกของผมเองขายได้สำเร็จ
Photo credit: The Productivityist Podcast 70: The Art of The Side Hustle with Nick Loper
แนวทางการสร้าง Information Product ของ Nick มาจากการเขียนบล็อก รวบรวมเนื้อหาในบล็อกมาแพ็คเป็นเล่มวางขายบน Amazon อยู่หลายเล่ม รวมถึงพ็อดคาสท์ที่ถูกทำเป็นหนังสือเสียงด้วย จนกระทั้งมาถึงเล่ม Work Smarter ที่ทำรายได้น่าพอใจ จนมีหลายคนเข้ามาสอบถาม Nick ว่าถ้าอยากเลียนแบบวิธีการของ Nick พวกเขาต้องทำอย่างไร Nick เห็นโอกาสจึงอัดวิดีโอสอนวิธีการตีพิมพ์อีบุ๊คขายในรูปแบบคอร์สออนไลน์บน Udemy
บทความนี้ผมเขียนขึ้น เพราะมีแฟน START IT UP อ่านบทความ และส่งอีเมล์เข้ามาสอบถามผมเกี่ยวกับ “การหารายได้เสริม” ในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางคนมองว่าการทำสตาร์ทอัพเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมในการเริ่มต้นด้วยคน ๆ เดียว ซึ่งก็จริง เพราะการทำสตาร์ทอัพต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทีม เงิน เวลา และโอกาส+โชค
กระนั้นเราก็ต้องไม่ลืมว่าอินเทอร์เน็ตไม่เพียงเปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ กลับมาที่เรื่องของ Side Hustle ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในสายนี้จะเป็น Solopreneur (ผู้ประกอบการฉายเดี่ยว) คือ เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองก่อน จากรายได้ไม่มาก จนเมื่อถึงจุดที่รายได้เกินงานประจำค่อยลาออกจากงานมาทำเต็มตัว
หลังจากที่ผมได้อ่านบทความผู้ประกอบการ Side Hustle ที่ Nick เป็นคนสัมภาษณ์ มันเปิดโลกทัศน์ผมหลายอย่างเกี่ยวกับ Side Hustle แม้จะเป็นบทความและแนวทางในต่างประเทศ แต่ผมคิดว่าผู้อ่านสามารถเอาแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับบริบทในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย หากคุณพร้อมแล้วเรามาติดตามกันเลยครับ
เรื่องราวของ Scott Britton
Scott Britton เริ่มต้นอาชีพการสอนของเขาบน Skillshare โดยเขาเสนอคลาสที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ
ตั้งแต่ที่ Skillshare เปลี่ยนไปเป็น Platform แบบออนไลน์ Scott จึงเบนเข็มไปที่ Udemy เพราะมีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่กว่า มันคล้ายกับกรณีของ Amazon vs. Barnes and Noble ที่หากคุณต้องการขายหนังสือ คุณควรขายฝั่งเจ้าตลาดก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาขยายไปขายยังที่อื่น ซึ่งวิธีนี้ง่ายและประหยัดเงินกว่า
ถ้าคุณมีฐานแฟนอยู่แล้ว Udemy ไม่ใช่ช่องทางที่ดีนักในการขายคอร์ส ในทางกลับกัน Udemy เป็นที่ที่สุดยอดมากหากคุณต้องการเข้าถึงผู้เรียนใหม่ ๆ กว่า 2 ล้านคน ซึ่งพวกเขาไม่รู้จักคุณมาก่อน
การสร้างคอร์ส
ในอดีตการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง คุณต้องร่ำเรียนศาสตร์นั้น ๆ แล้วสอบวัดว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ แต่ในปัจจุบันคุณสามารถที่จะวิจัยและคัดสรรเนื้อหาคุณภาพดีที่สุดในเรื่องนั้น ๆ ได้ด้วยตนเองเพื่อแสดงถึงความเชี่ยวชาญที่คุณมี
ยกตัวอย่างเช่น Scott ไม่ได้ผ่านการรับรองว่าเขาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน แต่เขาสามารถช่วยให้นักเรียนหลายพันคนสามารถวิเคราะห์การนอนของตนเองได้ผ่านคอร์สเรียนที่ Scott สร้างขึ้น
Scott ใช้วิธีทำ Powerpoint ประกอบการสอน และเริ่มอัดวิดีโออธิบายด้วยโปรแกรม Screencastomatic ซึ่งมีราคาเพียง 15 เหรียญ
ถ้าคุณสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขอให้รู้เยอะกว่าผู้เรียน และพยายามทำวิจัย เท่านี้คุณก็สามารถเป็นครูผู้สอนได้แล้ว Scott ใช้เวลา 18 ชั่วโมงไปกับการวิจัย เพื่อสร้างคอร์ส Sleep Hacking ความยาว 4.5 ชั่วโมง ขายในราคา 49 เหรียญ
ขายคุณค่าไม่ใช่ราคา
คอร์สของ Scott สัญญาว่าจะช่วยให้ผู้เรียนประหยัดเวลาได้ชั่วโมงครึ่งจากการหลับต่อครั้ง (ในตอนกลางคืน) คุณค่าที่คอร์สเรียนนี้ส่งมอบให้กับผู้เรียนคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือช่วยให้มีเวลากับเพื่อนฝูงและครอบครัวมากขึ้น
การทำตลาด
การที่จะขายคอร์สเรียนได้นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างคือ
- คะแนนและรีวิว
- จำนวนนักเรียนที่มาลงทะเบียน
เราจะเห็นตัวชี้วัดทั้ง 2 นี้ในแต่ละคอร์สเรียนบน Udemy โดยธรรมชาติแล้วคอร์สที่มีคะแนนสูง และจำนวนผู้ลงทะเบียนเยอะจะถูกมองว่าคอร์สนั้นดีกว่าคอร์สอื่น ๆ ในเรื่องเดียวกัน และมีโอกาสขายได้มากกว่าคอร์สเรียนที่ไม่มีคนลงเรียนและรีวิว
Scott มีอีเมล์รายชื่อของเพื่อน ๆ และครอบครัวที่น่าจะสนใจคอร์สเรียนของเขา หลังจากที่ปล่อยคอร์สเรียนออกไป ชายหนุ่มได้ส่งอีเมล์หาคนเหล่านี้ พร้อมเสนอคูปองเพื่อใช้เรียนฟรี แต่ต้องแลกกับการเขียนรีวิวเชิงบวกให้
ข้อดี คือ ถ้าคุณยังไม่มีรายชื่ออีเมล์จำนวนมาก เพราะไม่มีใครรู้จักคุณ คุณสามารถใช้วิธีนี้ได้โดยการส่งอีเมล์สอบถามผู้คนที่คุณรู้จัก กลยุทธนี้ทำให้ Scott ได้รับ 10 รีวิว ซึ่งในตอนแรกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้รีวิวเป็นเลข 2 หลัก
กลยุทธต่อมาที่ Scott แนะนำ คือ การปล่อย Teaser ใน Twitter หรือ Facebook พร้อมกับข้อความเชิญชวนว่า “อีกหนึ่งสัปดาห์ผมจะปล่อยคอร์สเรียนนี้ ใครที่สนใจสามารถมาดูได้ฟรี” จากนั้นคุณก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่อยากรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่คุณปล่อยออกไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะช่วยเขียนรีวิวในช่วงแรกให้กับคุณได้
วิธีเพิ่มจำนวนนักเรียน
เป้าหมายของ Scott คือ หาคนมาลงเรียนให้ได้ 1,000 คน เพื่อที่ในอนาคตเขาจะได้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น BlackHatForum.com เป็นอีกที่หนึ่งที่ Scott เข้าไปโพสต์กระทู้เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเรียนคอร์สของเขา โดยการแจกคูปองเรียนฟรีที่นั่น
ภายใน 24 ชม. เขาก็ได้ผู้เรียน 1,000 คนสมใจ พอถึงเป้าหมายที่ต้องการ Scott แนะนำยกเลิกคูปองเรียนฟรี เพื่อป้องกันการค้นเจอใน Search Engine หรืออาจมีคนหัวใสนำไปขายต่อผู้อื่นอีกที
อัลกอริทึมการจัดอันดับของ Udemy
Scott เรียกอัลกอริทึมของ Udemy ว่าเป็นระบบจัดอันดับแบบอิงความเร่ง คือ ยิ่งคอร์สนั้น ๆ มีนักเรียนใหม่มาลงทะเบียนมาก ๆ เข้าภายใน 7 วัน ก็จะยิ่งช่วยให้คอร์สเรียนใหม่สามารถไต่ไปอันดับแรก ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณควรมียอดรีวิวและจำนวนนักเรียนเยอะ ๆ ในช่วงแรก เพราะมันทำให้โอกาสขายของคุณเพิ่มมากขึ้น
กฏ 10%
Scott กล่าวว่า มีคนเพียง 10% เท่านั้นที่ดูวิดีโอคอร์สเรียนของคุณจนจบทุกตอน (รวมถึงอีบุ๊ค และเนื้อหาอื่น ๆ) ดังนั้นถ้าคุณจะรอให้คนมาดูจบและเขียนรีวิวให้ คุณจะเสียโอกาสมากมายเลยล่ะ
ดังนั้น Scott จึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 Part ใหญ่ ๆ โดยร้องขอให้นักเรียนเขียนรีวิวให้เมื่อพวกเขาเรียนจบแต่ละ Part เขาอธิบายว่ามีนักเรียนบางคนรู้สึกตื่นเต้นที่จะนำความรู้ที่ได้ไปลองใช้ทันที พวกเขาอาจไม่ได้ดูวิดีโอจนจบ แต่รีวิวเหล่านั้นก็ช่วยดึงดูดนักเรียนใหม่ ๆ ให้ค้นพบคอร์สเรียนตัวนี้
นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า วิดีโอคอร์สเรียนที่พ่วงด้วยเนื้อหาสอนการเขียนรีวิว ถ้าเนื้อหามีคุณค่าจริง ผู้คนก็มักเต็มใจที่จะสละเวลา 1 นาทีในการเขียนรีวิวให้
ใช้ Udemy เก็บอีเมล์ลูกค้า
ในตอนจบของแต่ละ Part คุณสามารถเสนอเนื้อหาโบนัสพิเศษให้กับผู้เรียนได้ โดยการให้พวกเขาเข้าไปที่เว็บไซต์ของคุณ และกรอกอีเมล์เพื่อรับสิทธิ์ในการเข้าถึงหรือดาวน์โหลดเนื้อหาโบนัสเหล่านั้นได้
การตั้งราคา
ในช่วงที่คุณปล่อยคอร์สฟรี คุณสามารถเพิ่มราคาคอร์สเพื่อกระตุ้นการรับรู้ถึงคุณค่าของมันแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ โดยส่วนมากคนมักชอบลงทะเบียนคอร์สฟรีราคา 99 เหรียญ มากกว่าคอร์สฟรีราคา 29 เหรียญ แม้ว่ามันจะฟรีเหมือนกันก็ตาม
ทดสอบการตั้งชื่อคอร์ส
คุณสามารถนำโค้ด Google Analytic มา Track คอร์สเรียนของคุณบน Udemy ได้ ดังนั้นคุณจะตรวจสอบ Conversion rate (อัตราที่ผู้ชมจะกลายเป็นผู้ซื้อ) จากการเปลี่ยนชื่อคอร์ส หรือปัจจัยอื่น ๆ ลองทดสอบตั้งชื่อ และกลับมาดูผลใน 2 อาทิตย์ ว่ามัน work หรือไม่ นอกจากนี้คุณยังใช้วิธีนี้ทดสอบเรื่องการตั้งราคาต่าง ๆ ได้อีกด้วย
รายได้จาก Udemy
กรณีที่ผู้สอนให้ Udemy ช่วยทำการตลาดให้ รายได้ที่จะได้รับ คือ 50% ถ้าหากผู้สอนดำเนินการหาคนมาเรียนเอง Udemy จะชาร์จ 3% โดยหักผ่านบัตรเครดิต ส่วนที่เหลือ 97% ของเป็นของเจ้าเนื้อหา
ความเห็นจากผู้เขียน
Udemy กับ Amazon มีความคล้ายกัน คือ เป็นเจ้าตลาดใน Content นั้น ๆ นั่นหมายความว่าแม้คุณเป็นคนแปลกหน้า (ไม่มีชื่อเสียง) หาก Content ของคุณดีจริงคุณก็มีโอกาสขายได้ (พิจารณาจากความน่าจะเป็นที่สูงขึ้นตามจำนวนลูกค้าใน Platform ดังกล่าว)
อย่างไรก็ตามหลักการ Give first get later ยังคงใช้ได้ดีอยู่เสมอ คุณจะเห็นได้ว่า Scott เปิดโอกาสให้ผู้เรียนรุ่นบุกเบิกได้เรียนฟรี แลกกับการเขียนรีวิว เพื่อให้คอร์สของเขาไปปรากฏอันดับต้น ๆ ของ Udemy
ในเมืองไทยผมขอยกตัวอย่าง คอร์สเรียนสอนเขียนแอพ Android ของพี่นู๋เนย ที่เพิ่งปล่อยไปบน Udemy เหมือนกัน มีคนสนใจลงทะเบียนเรียนมากมาย ใช้หลักการเดียวกันครับ โดยพี่เนยจะเน้นการเขียนบทความคุณภาพให้ความรู้ในการพัฒนาแอพ Android แบบฟรี ๆ ในเว็บของตัวเองอย่างinthecheesefactory และ nuuneoi.com
นี่แสดงให้เห็นว่าในตลาดที่แคบลงมา (เฉพาะในเมืองไทย) ทำไมคุณต้องมีฐานแฟน ทำไมคุณต้องให้ก่อนรับ ก็เพราะลูกค้าที่ซื้อของคุณเค้ารู้จักคุณไง ผ่านเนื้อหาฟรีที่มีประโยชน์และคุณค่าที่คุณเป็นคนนำเสนอ ซึ่งต่างกับเคสต่างประเทศที่มีลูกค้าจำนวนมหาศาล โอกาสในการขายออกเลยเยอะกว่า
ดังนั้นที่ผมอยากแนะนำ คือ ถ้า Content ของคุณเป็นภาษาอังกฤษ อย่าลืมลองทดสอบกับตลาดระดับโลกดู แต่ถ้าหาก Content ของคุณเป็น Local อย่าลืมสร้าง Authority หรือความเป็นกูรูในด้านนั้น ๆ ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณได้รู้จักครับ ซึ่งในระยะยาวแล้ว Authority เป็นตัวที่ทำให้ผู้ประกอบการ Solopreneur ได้เปรียบในการแข่งขันครับ
credit: startitup
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น